กองทุนรวมคืออะไร

กองทุนรวม คือ เครื่องมือในการลงทุน (investment vehicle) สำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ประสงค์จะนำเงินมาลงทุนในตลาดเงินตลาดทุน แต่ติดขัดด้วยอุปสรรคหลายประการ ที่ทำให้การลงทุนด้วยตนเองไม่สามารถได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ต้องการ เช่น
– มีทุนทรัพย์จำนวนจำกัด ไม่สามารถกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเภทได้มากพอ เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน หรือ
– ไม่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในการลงทุน หรือ
– ไม่มีเวลาจะศึกษา ค้นหา และติดตามข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจการลงทุน
กองทุนรวม จึงเป็นเครื่องมือในการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดการลงทุนอย่างเป็นระบบ โดยมีจุดมุ่งหมาย   ให้การลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีสุด ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้

โครงสร้างของกองทุนรวม

ประเภทของกองทุนรวม

1. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)
เน้นลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้ เช่น เงินฝาก พันธบัตร หรือ หุ้นกู้ เน้นความเสี่ยงต่ำ รับรายได้ประจำจากดอกเบี้ย

2. กองทุนรวมมุ่งรักษาเงินต้น (Capital Protected Fund)
กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อมุ่งให้เกิดการรักษาเงินต้นของผู้ลงทุนทั้งจำนวนตามที่ระบุไว้ในโครงการ

3. กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)
กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ เป็นต้น

4. กองทุนรวมผสม (Mixed Fund)
กองทุนรวมที่กระจายการลงทุนทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุน โดยสัดส่วนการลงทุนขึ้นอยู่กับผู้จัดการกองทุนตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ

5. กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund)
กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารทุน เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (Warrant) เป็นต้น

6. กองทุนรวมดัชนี (Index Fund)
กองทุนรวมที่เน้นสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนตามการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาหลักทรัพย์ที่ระบุไว้ในโครงการ เช่น ลงทุนในดัชนี SET Index หรือ SET50 Index เป็นต้น

7. กองทุนรวมอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund : ETF)
กองทุนรวมที่ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ผ่านบริษัทหลักทรัพย์

8. กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม (Sector Fund)
กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารทุนโดยเฉพาะเจาะจงในหมวดอุตสาหกรรมเพียงบางหมวด เช่น หมวดอุตสาหกรรมธนาคาร หมวดอุตสาหกรรมสื่อสาร
หมวดอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เป็นต้น

9. กองทุนรวมต่างประเทศ (Foreign Investment Funds: FIF)
กองทุนรวมที่มีการลงทุนในต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

10. กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Funds)
กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นหลายๆ กองทุน

11. กองทุนรวมฟีดเดอร์ (Feeder Fund)
กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นเพียงกองทุนเดียว

12. กองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก (Alternative Investment Fund)
กองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์เฉพาะกลุ่ม เช่น ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

13. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF)
กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมเพื่อการเลี้ยงชีพในระยะยาวของผู้ลงทุน โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนด

14. กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF)
กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมระยะยาวของผู้ลงทุน ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2562
โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนด

15. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund: LTF)
กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น
โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนด

16. กองทุนรวมมีประกัน (Guaranteed Fund)
กองทุนรวมที่บริษัทจัดการจัดให้มีบุคคลอื่นประกันว่าหากผู้ลงทุนได้ลงทุนจนครบตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ลงทุนจะได้รับชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน
จากการไถ่ถอนหรือการขายคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ตามจำนวนเงินที่ประกันไว้

17. กองทุนรวมวายุภักษ์
กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2546

ข้อดีของกองทุนรวม

1. บริหารโดยมืออาชีพ ซึ่งมืออาชีพในที่นี้หมายถึง “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.)” หรือ “บริษัทจัดการ” ซึ่งมีผู้จัดการกองทุนรวมที่มีความรู้และประสบการณ์ สามารถวิเคราะห์รวมถึงวางแผนการลงทุนตามวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมแต่ละกอง
2. มีการกระจายความเสี่ยง ผู้จัดการกองทุนรวมจะนะเงินไปลงทุนในตราสารทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อเป็นการกระจายและช่วยลดความเสี่ยง
3. มีสภาพคล่อง ผู้ลงทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนที่ถืออยู่ให้เป็นเงินสดได้กับบริษัทจัดการ หรือนำไปขายเปลี่ยนมือในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ (แล้วแต่กรณี)
4. มีทางเลือกในการลงทุน เนื่องจากกองทุนรวมแต่ละกองมีนโยบายเฉพาะตัวในการลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกนโยบายที่เหมาะสม กับตนเองได้
5. มีกลไกป้องกันผู้ลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ในการทำธุรกิจรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนได้เข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุนเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลงทุนถูกเอาเปรียบ

เหตุใดควรเลือก กองทุนรวมของ MFC

ความสามารถและประสบการณ์
– MFC เป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจจัดการ ลงทุน ตั้งแต่ ปี 2518
– บุคลากรของ MFC ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจการจัดการกองทุน มีความรู้ ความสามารถและ มากด้วยประสบการณ์อันยาวนาน
ความมั่นคง
– มีภาครัฐถือหุ้นกว่า 41% ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง และธนาคารออมสิน
ความรวดเร็วและความคล่องตัวในการให้บริการ
– MFC ดำเนินการโดยบุคลากรที่มีประสบการณ์ และความชำนาญเฉพาะด้านรวมถึงการประสานงาน กันอย่างมีระบบ ด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง โดย Computer และ Software ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ
นโยบายการบริหารกองทุน
– MFC เน้นที่คุณภาพในกระบวนการจัดการลงทุน และการทำงานเป็นทีมร่วมกันเป็นอันดับหนึ่ง โดยอยู่ภายใต้จรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด
กองทุนรวมที่หลากหลาย
– MFC ได้จัดตั้งกองทุนรวมที่สามารถตอบสนองความต้องการในการลงทุนของนักลงทุนทุกรูปแบบ โดยมีกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนและระดับความเสี่ยงที่หลากหลาย เหมาะกับนักลงทุนทุกประเภท

บริการกองทุนรวม MFC

– ให้คำปรึกษา แนะนำ ในการลงทุนให้แก่นักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบัน
อำนวยความสะดวกในการซื้อขายกองทุน โดยนักลงทุนสามารถซื้อขายกองทุนผ่านช่องทางดังต่อไปนี้
– ที่บริษัทจัดการและสาขาของบริษัทจัดการ
– ทางไปรษณีย์
– MFC Website and Mobile Application
– MFC-Contact Center
– ผู้สนับสนุนการขายและซื้อคืนหรือรับซื้อคืน
– มีการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและการเงินทุกเดือน โดยนักลงทุนสามารถเปิดอ่านงานวิจัยใน website ของบริษัทหรือติดต่อขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่การตลาด
– มีการจัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อให้ความรู้แก่นักลงทุน